แนวทางการดำเนินงาน โรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย

ในสถานการณ์ที่ระดับสุขภาวะ การเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็กและเยาวชนไทยยังคงเป็นปัญหาหลากหลายนโยบายถูกริเริ่มในโรงเรียนเพื่อ หวังช่วยจัดการและแก้ปัญหาดังกล่าวหลายโรงเรียนประสบความยากลำบาก....ในการจัดการเวลาและบูรณาการกิจกรรมให้ลงตัว

แนวคิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงระบบแบบ 4PC

คือ เครื่องมือที่จะช่วยให้การทำงานของโรงเรียน เป็นไปอย่างบูรณาการและง่ายยิ่งขึ้น

4PC เป็นแนวคิดที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้น โดยทบทวนและศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยในต่างประเทศมาทำการออกแบบและปรับประยุกต์เพื่อจัดการระบบนิเวศด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย นโยบายด้านการจัดการเรียนการสอน บริบทเชิงพื้นที่ของโรงเรียนและพฤติกรรมของนักเรียนไทย ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเชิงระบบเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน โดยได้ผ่านกระบวนการวิจัยและการทดสอบประสิทธิผลของเครื่องมือตลอดระยะเวลา 3 ปี กระทั่งได้ข้อยืนยันว่าสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อพฤติกรรมของนักเรียน ขณะเดียวกันยังยืนยันโดยผู้บริหารโรงเรียนและคุณครูผู้ใช้ว่า เป็นแนวคิดที่สามารถปรับประยุกต์และบูรณาการเข้ากับกิจกรรมเชิงนโยบายและการเรียนรู้อื่น ๆ ได้อย่างไม่ติดขัด
ทั้งนี้ องค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนด้วยแนวคิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงระบบแบบ 4PC มี 5 องค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้
  • 1. นโยบายส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายในทุกโอกาส (Active Policy)
  • 2. บุคลากรที่มีความกระฉับกระเฉงตื่นรู้ (Active People)
  • 3. แผนกิจกรรมฉลาดเล่น (Active Program)
  • 4. พื้นที่ส่งเสริมการเล่น (Active Place)
  • 5. ห้องเรียนฉลาดรู้ (Active Classroom)

ที่มา: โครงการโรงเรียนฉลาดเล่น, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562

แนวคิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเชิงระบบแบบ 4PC ในโรงเรียนสามารถช่วยส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียนได้อย่างรอบด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม กระบวนการคิดวิเคราะห์และการสื่อสาร ความผูกพันและความสุขในการใช้เวลาที่โรงเรียน รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

ประสิทธิผลของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน

ผลจากการวิจัย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในโรงเรียนต้นแบบที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการ “โรงเรียนฉลาดเล่น” ที่ทำการติดตามและวัดประสิทธิผลของแนวคิดเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 3 ปี พบการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในกลุ่มนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการที่สำคัญ 5 ประการคือ

คะแนนเฉลี่ยของพัฒนาการ 5 มิติของนักเรียนเปรียบเทียบรอบก่อนและหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม
ที่มา: โครงการโรงเรียนฉลาดเล่น, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562

ที่สำคัญที่สุดคือ คุณครูและโรงเรียนต้นแบบในการดำเนินงานโครงการต่างสะท้อนตรงกันว่า กระบวนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ เป็นเครื่องมือการจัดการที่ช่วยให้โรงเรียนสามารถนำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการดำเนินการอยู่มาบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับธรรมชาติและบริบทของโรงเรียนไทย ดำเนินการได้จริงไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน

โอกาสและประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้น

เมื่อดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน

ระดับโรงเรียน

  • 1.) มีเครื่องมือสำหรับการบูรณาการการทำงานตามตัวชี้วัดด้านการส่งเสริมสุขภาพและความรอบรู้ทางสุขภาพของนักเรียน ภายใต้รูปแบบการดำเนินกิจกรรมที่ไม่ยุ่งยากและมีประสิทธิผล
  • 2.) เสริมสร้างบรรยากาศในโรงเรียน ความผูกพันระหว่างนักเรียนกับคุณครู ตลอดจนกระบวนการสร้างการเรียนรู้แบบ Active Learning และเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม

ระดับครูผู้สอน

  • 1.) มีข้อมูลประกอบการติดตามช่วยเหลือ และส่งเสริมพฤติกรรมทางสุขภาวะของนักเรียน ทั้งนี้รวมถึงการใช้ข้อมูลเพื่อการทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อยกระดับวิทยฐานะ
  • 2.) มีเครื่องมือสนับสนุนกระบวนการการเรียนการสอนแบบ Active Learning และเกิดความสนุกในการสอนเนื่องจากการตอบรับที่ดีจากผู้เรียน

ระดับเขตพื้นที่การศึกษา

  • 1.) เพิ่มทางเลือกของ Platform สำหรับการส่งเสริมสุขภาพนักเรียนที่สามารถบูรณาการโครงการและกิจกรรมอื่น ๆ รวมถึง การจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบ
  • 2.) ผลของการดำเนินกิจกรรมในภาพรวม จะช่วยหนุนเสริมประสิทธิผลการดำเนินงานของสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิผล รวมถึงสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาของผู้เรียน

มหัศจรรย์ของการเล่น:

เล่นสำคัญอย่างไรทำไมจึงต้องทำ

“การเล่น” นับเป็นกิจกรรมทางกายที่ช่วยสร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับเด็กทุกคน ยิ่งได้วิ่งเล่นหรือเคลื่อนไหวมากขึ้นเท่าใด เสียงหัวเราะ แววตาและรอยยิ้ม ที่มีกับเด็ก ๆ ก็จะยิ่งเพิ่มทวีคูณมากขึ้นตามไปด้วย ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ “การเล่น” สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ ต่อเด็กและเยาวชนได้มากอย่างน่ามหัศจรรย์ ทั้งนี้หลักฐานทางวิชาการและงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันให้เห็นว่า การเล่นอย่างเหมาะสมจะนำไปสู่การเสริมพัฒนาการเด็กในหลากหลายมิติ
ความลับสำคัญของการเล่นที่หลายคนอาจยังไม่ทราบก็คือ การเล่นหรือการเคลื่อนไหวร่างกายเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 20 นาที สามารถกระตุ้นกระบวนการทำงานและคลื่นสมองของเด็กให้มีความพร้อมกับการเรียนรู้ได้มาก

การทดสอบการวัดคลื่นสมองในเด็กนักเรียนไทย

การเปลี่ยนแปลงหลังการทดสอบ 20-40 นาที

ดำเนินการทดสอบโดยภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยมหิดล